เมืองสงขลา

นกน้ำเพลินตา สมิหลาเพลินใจ เมืองใหญ่สองทะเล เสน่ห์สะพานป๋า ศูนย์การค้าแดนใต้

1/18/2554

คำขวัญจังหวัดสงขลา


นกน้ำเพลินตา สมิหราเพลินใจ เมืองใหญ่สองทะเล เสน่ห์สะพานป๋า ศูนย์ค้าแดนใต้

สัญลักษณ์จังหวัดสงขลา

รูปหอยสังข์บนพานแว่นฟ้า หมายถึง รูปหอยสังข์ซึ่งยังค้นหาหลักฐานของความหมายได้ไม่แน่ชัด แต่บุคคลบางคนบอกที่มาของตราประจำจังหวัดนี้ว่า เดิมเคยเป็นตรากระดุมเสื้อฉลองพระองค์ ของกรมหลวงสงขลานครินทร์ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร์อดุยเดชวิกรมบรมชนกนาถ ต่อมากรมศิลปากรออกแบบตราสังข์ ใช้เป็นเครื่องหมายตราจังหวัดสงขลา

จังหวัดสงขลา ใช้อักษรย่อว่า "สข"

อาหารท้องถิ่นของสงขลา


เต้าคั่ว เป็นอาหารว่าง คล้ายยำสลัด มีรสเปรี้ยว เค็ม หวาน ประกอบด้วยเส้นหมี่ เต้าหู้ทอด หมูหั่นเป็นชิ้น กุ้งฝอยสดผสมแป้งและน้ำกะทิทอดกรอบ ไข่ต้ม ผักบุ้งลวก ถั่วงอกลวก แตงกว่าหั่นฝอย ราดด้วยน้ำยา ซึ่งทำจากน้ำส้มสายชูผสมน้ำตาลปี๊บ เจ้าอร่อยอยู่ด้านหลังตลาดกิมหยง
เต้าหู้ยี้เสวย เป็นอาหารขึ้นชื่อของเมืองสงขลา ต้นตำรับต้องของตระกูลสุมังคละ ถนนนางงาม ร้านนี้สืบทอดกรรมวิธีในการผลิตตามแบบบรรพบุรุษมา 4 ช่วงคน ที่ได้ชื่อว่า ?เต้าหู้ยี้เสวย? เพราะเคยทูลเกล้าฯ ถวายรัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 9 มาแล้ว
ขนมดู เป็นขนมขึ้นชื่อของสทิงพระ มีรสชาติหอมหวาน มัน ทำจากการนำข้าสารไปคั่วจนสุกกรอบ นำไปโม่ให้ละเอียดผสมกับน้ำตาลโตนดที่เคี่ยวจนข้น จากั้นใส่มะพร้าวแก่ขูด ใส่เกลือ คนจนขนมแห้ง ทิ้งไว้ให้เย็น แล้วปั้นเป็นก้อนแล้วคลุกแห้งเพื่อไม่ให้ติดมือ
ยำสาหร่าย เป็นอาหารท้องถิ่นของชาวเกาะยอ รับประทานกับใบชะพลู นอกจากนั้นยังมีสาหร่ายตากแห้งนำไปใส่แกงจืดหรือผัดรับประทานแทนเส้นหมี่ ดีกว่าตรงที่เส้นมีความกรุบกรอบ
ปลาดุกร้า ทำจากปลาดุกอุยนำไปหมักในภาชนะดินเผา ที่เรียกว่า เนียง จากนั้นนำไปตาก แล้วชุบน้ำตาลโตนดข้น แล้วหมักอีกครั้ง เวลารับประทาน นำมาทอดหรือย่าง สามารถเก็บไว้ได้นาน
คนสงขลา
สงขลา ตั้งอยู่บนเส้นทางติดต่อโลกวัฒนธรรมตะวันออก-ตะวันตก หมู่เกาะและแผ่นดินใหญ่ จึงเป็นบ้านหลอมทางชาติพันธุ์ เป็นขอบรอยต่อระหว่างวัฒนธรรมฮินดู-พุทธ-มุสลิม และเป็นแหล่งตั้งถิ่นฐานใหญ่ของชาวจีนโพ้นทะเล อันเป็นผลจากการที่สงขลาเป็นเมืองท่าการค้าเสรีมาตั้งแต่อดีต
คนไทยพุทธ
เป็นคนท้องถิ่นภาคใต้ มีทั้งคนท้องถิ่นสงขลา และที่อพยพมาจากพัทลุง นครศรีธรรมราช ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำไร่และทำนา
คนไทยมุสลิม
อยู่ภายใต้วัฒนธรรมชวา-มลายู คนไทยมุสลิมส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมง หรือค้าขาย ตั้งถิ่นฐานบริเวณชายฝั่งทะเลสาบ และอ่าวไทย นอกจากนั้น ยังมีชุมชนชาวไทยมุสลิมในเขตรอยต่อวัฒนธรรมพุทธ ? มุสลิม ระหว่างจังหวัดสงขลา-ปัตตานี ในเขตอำเภอเทพา อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา และในเขตอำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดยะลา
คนไทยเชื้อสายจีน
ชาวจีนฮกเกี้ยนเริ่มมาตั้งถิ่นฐาน และมีบทบาททางเศรษฐกิจ และการปกครองในสงขลาช่วงปลายกรุงศรีอยุธยา โดยเริ่มจากนายจีนเหยี่ยง แซ่เฮา คนจีน และวัฒนธรรมจีนเข้ามาผสมผสานกับวัฒนธรรมไทยอย่างเด่นชัดช่วงรัชกาลที่ 3-5 ปัจจุบันแหล่งคนจีนกลุ่มใหญ่ที่สุดอยู่ที่อำเภอหาดใหญ่ ซึ่งคนจีนเป็นผู้บุกเบิกเปลี่ยนป่าให้เป็นเมืองธุรกิจสำคัญในทุกวันนี้

แผนที่จังหวัดสงขลา

อาณาเขต :

ทิศเหนือ ติดต่อกับ จังหวัดนครศรีธรรมราช และ พัทลุง
ทิศใต้ ติดต่อกับ จังหวัดยะลา ปัตตานี และรัฐเกดาห์ (ไทรบุรี) และปลิศ ของมาเลเซีย
ทิศตะวันออก ติดต่อกับ อ่าวไทย
ทิศตะวันตก ติดต่อกับ จังหวัดสตูล และพัทลุง

แบ่งการปกครอง ออกเป็น ๑๔ อำเภอ ๒ กิ่งอำเภอ คือ อำเภอเมือง อำเภอจะนะ อำเภอหาดใหญ่ อำเภอนาทวี อำเภอระโนด อำเภอรัตภูมิ อำเภอสะบ้าย้อย อำเภอควนเนียง อำเภอสะเดา อำเภอสทิงพระ อำเภอเทพา อำเภอสิงหนคร อำเภอกระแสสินธุ์ อำเภอนาหม่อม กิ่งอำเภอบางกล่ำ และกิ่งอำเภอคลองหอยโข่ง

ประเพณีของสงขลา


งานประเพณีสงกรานต์

จัดขึ้นในวันที่ 13 เมษายน ของทุกปี ทางอำเภอหาดใหญ่มีการจัดงานขึ้นที่บริเวณถนนนิพัทธ์อุทิศ 1, 2, 3 ตั้งแต่เช้าถึงเย็น ชาวมาเลเซียและสิงคโปร์นิยมเดินทางมาร่วมสนุกกับชาวไทยในเทศกาลนี้เป็นที่สนุกสนาน

งานเทศกาลส่งเสริมสินค้าและผลไม้ไทย

จัดขึ้นประมาณกาลางเดือนกรกฏาคมของทุกปี เพื่อส่งเสริมการเกษตร ภายในงานมีสินค้าเกษตรจากหลายจังหวัดในภาคใต้มาแสดงและจัดจำหน่าย

งานเทศกาลโคมไฟไหว้พระจันทร์

จัดขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำเดือนสิบ บริเวณศาลเจ้าซาเจียงกุล วัดหงษ์ประดิษฐ์ อ.หาดใหญ่ ภายในงานมีขบวนแห่โคมไฟและมหรสพจีน ขบวนมังกร เชิดสิงโต ชมโคมไฟยักษ์และการประกวดโคมไฟตามบ้านเรือนราษฎร

งานเทศกาลทำบุญเดือนสิบ

เป็นงานประเพณีของชาวไทยภาคใต้ ซึ่งเกิดจากความเชื่อที่ว่าช่วงแรม 1-15 ค่ำเดือนสิบ วิญญาณของญาติพี่น้องผู้ล่วงลับไปแล้วโดยเฉพาะผู้ที่ยังไม่ได้ไปเกิดจะได้รับการปลดปล่อยให้มาพบญาติพี่น้องในเมืองมนุษย์ ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ก็จะจัดหาอาหารต่างๆไปทำบุญตามวัดเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว ที่อำเภอสทิงพระจะจัดงานเทศกาลนี้แปลกไปจากที่อื่น คือมีการแห่หุ่นทองสูงเพื่อใช้แทนญาติหรือผู้อาวุโสที่เป็นที่นับถือของชาวบ้าน

งานประเพณีลากพระและตักบาตรเทโว

จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ประมาณเดือนตุลาคม ณ อำเภอเมือง พิธีจะเริ่มก่อนวันงานด้วยการห่มผ้าพระเจดีย์บนยอดเขาตังกวน ในวันงานเวลาเช้าจะเป็นพิธีตักบาตรเทโวบริเวณเชิงเขาตังกวน พระสงฆ์หลายร้อยรูปจะเดินลงมาจากเขาตังกวนเพื่อรับบิณฑบาตรจากพุทธศาสนิกชน ตอนสายจะมีเรือพระจากวัดต่างๆในเขตจังหวัดสงขลาเคลื่อนผ่านให้พุทธศาสนิกชนได้ร่วมทำบุญและลากพระ ตามความเชื่อที่ว่าจะได้บุญกุศลสูง เรือพระจะมารวมกันที่บริเวณสระบัวเพื่อร่วมประกวดการตกแต่งเรือพระ นอกจากนี้ภายในงานยังมีการแสดงศิลปวัฒนธรรม

1/15/2554

สถานที่สำคัญของเมืองสงขลา


พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ จังหวัดสงขลา
เดิมเป็นบ้านพักส่วนตัวของพระยาสุนทรารักษ์ (เนตร ณ สงขลา) เคยใช้เป็นจวนพักข้าหลวงพิเศษตรวจราชการเมืองสงขลา และเมืองนครศรีธรรมราช และยังเคยใช้เป็นศาลาว่าการมณฑลนครศรีธรรมราช ปัจจุบันใช้เป็นพิพิธภัณฑ์จังหวัดสงขลา เก็บรวบรวมโบราณวัตถุต่างๆ ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์จากบ้านเชียง และสมัยหินกลาง-หินใหม่ และศิลปะโบราณวัตถุซึ่งพบที่ภาคใต้
วัดเกาะถ้ำ
เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่ง มีรอยพระพุทธบาทจำลองอยู่บนยอดเขา เงียบสงบ
สถาบันทักษิณคดีศึกษา
พื้นที่ส่วนหนึ่งอยู่บริเวณเชิงเขา และอีกส่วนหนึ่งอยู่บนยอดเขา และเมื่อขึ้นไปอยู่บนสุดของพื้นที่ จะสามารถมองเห็นทะเลสาบส่วนที่ล้อมเกาะทั้ง 3 ด้าน สถาบันแห่งนี้ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2521 เพื่อศึกษาเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมของภาคใต้ และมีการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมของภาคใต้ไว้ เป็นที่น่าสนใจ
สะพานติณสูลานนท์
เป็นสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา แบ่งออกเป็นสองช่วง คือช่วงแรก เชื่อมระหว่างชายฝั่ง อ.เมือง สงขลา บริเวณบ้านน้ำกระจาย กับเกาะยอตอนใต้ ช่วงที่ 2 เชื่อมระหว่างฝั่งด้านเหนือของเกาะยอกับฝั่งบ้านเขาเขียว
หาดสะกอม
อยู่ทางใต้ของเส้นทาง สงขลา-จะนะ-เทพา ห่างจากตัวเมืองสงขลา เป็นสถานที่เหมาะแก่การพักผ่อน แค้มปิ้ง
วัดถ้ำตลอด
มีลักษณะคล้ายอุโมงค์ขนาดใหญ่ ผ่าผ่านทะลุออกไปอีกฟากหนึ่งของภูเขา บริเวณถ้ำมี 3 คูหา มีพระพุทธรูปเก่าแก่ สร้างด้วยไม้โบกปูนซีเมนต์ มีอายุหลายร้อยปีมาแล้ว เป็นที่เคารพนับถือของราษฎร ์ และยังมีรูปยักษ์ขนาดใหญยืนอยู่หน้าถ้ำ
น้ำตกโตนงาช้าง
เป็นน้ำตกที่สวยงามแห่งหนึ่งในภาคใต้ อยู่ห่างจากอำเภอหาดใหญ่ 26 กิโลเมตร มีน้ำตกแยกออกมาในลักษณะงาช้าง
วนอุทยานน้ำตกบริพัตร
เป็นน้ำตกที่สวยงามไม่ด้อยไปกว่าน้ำตกโตนงาช้าง มีน้ำไหลตลอด
แหลมสมิหลา
มีหาดทรายขาวสะอาด และทิวสนอันร่มรื่น
สวนเสรี
เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจที่สวยงามอีกแห่งหนึ่ง บริเวณสวนตกแต่งด้วยไม้ดัดเป็นรูปสัตว์ต่างๆ
เขาตังกวน
บนยอดเขามีเจดีย์และตำหนักซึ่งสร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 สามารถมองเห็นทิวทัศน์ของเมืองสงขลาและทะเลสาบสงขลาได้อย่างชัดเจน
เก้าเส้ง
เป็นหาดที่สวยงามแห่งหนึ่งของสงขลา มีโขดหินระเกะระกะอยู่ริมทะเล และมีอยู่ก้อนหนึ่งตั้งเด่นอยู่เหนือโขดหิน ซึ่งชาวบ้านเรียกหินก้อนนี้ว่า “หัวนายแรง”
เกาะหนู-เกาะแมว
เป็นเกาะใกล้ชายฝั่งขนาดเล็ก อยู่นอกแหลมสมิหลา มีหินสวยงามเหมาะสำหรับตกปลา
ทะเลสาบสงขลา
เป็นทะเลสาบน้ำจืด แต่จะกร่อยในช่วงที่ติดกับทะเล ตรงปากอ่าวในทะเลสาบมีเกาะอยู่หลายเกาะ ที่สำคัญได้แก่ เกาะใหญ่ เกาะสี่ เกาะห้า เกาะแก้ว เกาะหมาก เกาะราย และเกาะยอ
เกาะยอ
พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นไหล่เขาและที่ราบตามเชิงเขา เหมาะแก่การเพาะปลูกและเกษตรกรรม เกาะยอยังเป็นเกาะที่มีสะพานที่
ยาวที่สุดในประเทศไทย คือ สะพานติณสูลานนท์
ศาลาหลักเมืองสงขลา
สร้างขึ้นพร้อมกับการสร้างเมือง เป็นที่เคารพสักการะของชาวสงขลา
วัดมัชฌิมาวาส (วัดกลาง)
เป็นวัดโบราณประมาณ 400 ปี มีพิพิธภัณฑ์ชื่อภัทรศิลป เป็นที่เก็บวัตถุโบราณต่างๆ ซึ่งรวบรวมได้จากเมืองสงขลา สทิงพระ ระโนด เป็นหลักฐานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ควรค่าแก่การศึกษา
เจดีย์บรรจุพระบรมธาตุวัดชัยมงคล
พระบรมธาตุที่บรรจุในเจดีย์นี้เป็นพระบรมธาตุที่ได้มาจากลังกา ประมาณปี พ.ศ. 2435
พระตำหนักเขาน้อย
เป็นที่ประทับของเจ้าฟ้ายุคลฆัฆมพร (กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์) เมื่อครั้งมาดำรงตำแหน่งสมเด็จอุปราชมณฑลปักษ์ใต้ เคยใช้เป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถฯ ในคราวเสด็จเยี่ยมราษฎรในจังหวัดภาคใต้ ปัจจุบันใช้เป็นจวนผู้ว่าราชการจังหวัด

1/12/2554

ประวัติสงขลา


สงขลาเป็นเมืองท่าทางฝั่งตะวันออกของภาคใต้ตอนล่างมาตั้งแต่อดีตอันยาวนาน มีชุมชมโบราณ เมืองเก่าแก่ โบราณสถาน โบราณวัตถุ ขนบธรรมเนียมประเพณีและการละเล่นพื้นเมือง ศิลปะพื้นบ้านเป็นมรดกทางวัฒนธรรมสงขลาเพิ่งปรากฏเป็นครั้งแรกในบันทึกของพ่อค้าและนักเดินเรือชาวอาหรับ-เปอร์เซีย ระหว่าง ปี พ.ศ.1993-2093 ในนามของเมืองซิงกูร์ หรือซิงกอร่า แต่ในหนังสือประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม ของนายกิโลลาส แซร์แวส เรียกชื่อเมืองสงขลา ว่า "เมืองสิงขร" จึงมีการสันนิษฐานว่า คำว่า สงขลา เพี้ยนมาจากชื่อ "สิงหลา" (อ่าน สิง-หะ-ลา) หรือสิงขร เหตุผลที่สงขลามีชื่อว่า สิงหลา แปลว่าเมืองสิงห์ โดยได้ชื่อนี้มาจากพ่อค้าชาวเปอร์เซีย อินเดีย แล่นเรือมาค้าขาย ได้เห็นเกาะหนู เกาะแมว เมื่อมองแต่ไกล จะเห็นเป็นรูปสิงห์สองตัวหมอบเฝ้าปากทางเข้าเมืองสงขลา ชาวอินเดียจึงเรียกเมืองนี้ว่า สิงหลา ส่วนไทยเรียกว่า เมืองสทิง เมื่อมลายูเข้ามาติดต่อค้าขายกับเมืองสทิง ก็เรียกว่า เมืองสิงหลา แต่ออกเสียงเพี้ยนเป็นสำเนียงฝรั่งคือ เป็นซิงกอร่า (Singora) ไทยเรียกตามเสียงมลายูและฝรั่งเสียงเพี้ยนเป็นสงขลา อีกเหตุผลหนึ่งอ้างว่า สงขลาเพี้ยนมาจาก "สิงขร" แปลว่า ภูเขา โดยอ้างว่าเมืองสงขลาตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาแดง ต่อมาได้มีการพระราชทานนามเจ้าเมืองสงขลาว่า "วิเชียรคีรี" ซึ่งมีความหมายสอดคล้องกับลักษณะภูมิประเทศ